ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

ทลายเครือข่ายจำหน่ายผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อ BODY FIRMING by nikki ตรวจพบ Sibutramin พร้อมทลายเครือข่ายจำหน่ายยาไม่มีทะเบียนประเภทควบคุมน้ำหนัก ทางแพลตฟอร์มดังขึ้นต้นด้วยอักษร “S” และ เฟซบุ๊ก


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทลายเครือข่ายขายผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อ BODY FIRMING by nikki สูตร 2 ดื้อยามาก ตรวจพบ Sibutramine ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1 ผู้ขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่  400,000 - 2,000,000 บาท พร้อมทลายเครือข่ายขายยาควบคุมน้ำหนักทางแพลตฟอร์มดังขึ้นต้นด้วยอักษร “S” และ เฟซบุ๊ก  
 

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการเฝ้าระวังและตรวจพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาไม่มีทะเบียน ที่มีการจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต, แพลตฟอร์ม และ เฟซบุ๊ก จำนวนมาก จึงได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการกวาดล้างไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมาย วันนี้ (9 เมษายน 2564) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฯ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ศารุติ แขวงโสภา, พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม

รองเลขาธิการคณะกรรมการ อาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าวการทลายเครือข่ายจำหน่ายผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อ BODY FIRMING by nikki ตรวจพบ Sibutramine พร้อมทลายเครือข่ายจำหน่ายยาไม่มีทะเบียนประเภทควบคุมน้ำหนัก ทางแพลตฟอร์มดังขึ้นต้นด้วยอักษร “S” และ เฟซบุ๊ก ดังนี้
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ปคบ. ร่วมกับ อย. บุกจับผู้ต้องหา 8 คน 10 หมายจับ  ในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ  พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักยี่ห้อ BODY FIRMING by nikki สูตร 2 ดื้อยามาก ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์พบ Sibutramine กว่า 40,000 แคปซูล ยาชุดและยาไม่มีทะเบียนจำนวนมาก โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีพฤติการณ์ โพสต์ขายสินค้าตามเฟชบุ๊กใช้ชื่อว่า Nasachon Limprasert” ระบุข้อความขายสินค้า “อาหารเสริมลดน้ำหนัก BODY FIRMING by Nikki ดื้อยาแรง อ้วนหลังคลอด กระชับ พุงยุบ ลดทุกสัดส่วนยกเว้น หน้าอก เห็นผลจริงเชิญทดสอบผลใน 7 วัน ผลิตจากสมุนไพรล้วน 100% ช่วยในการเผาผลาญไขมันไม่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่โยโย่ ไม่กลับมาอ้วนอีก ปลอดภัยเหมาะกับผู้ที่น้ำหนัก70 กิโลขึ้น และร้านค้าออนไลน์ แพลตฟอร์มดังขึ้นต้นด้วยอักษร “S” ในชื่อ lalarakkid@shop” (จากร้านเดิมใน เพจLaLa@Shop) ระบุ“lalarakkidShop ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมควบคุมน้ำหนัก auraslimbeauty การันตีของแท้ 100% ปลอดภัย มี อย....” และrakkid_shop” ระบุเกี่ยวกับร้านค้า เช่น “...ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมควบคุมน้ำหนัก auraslimbeauty การันตีของแท้ 100 จากร้านเดิม LaLa Shop ที่ปิดตัวลง...เจ้าหน้าที่ตรวจพบภาพ PANBESY 30 ระบุข้อความ เช่น “ช่วยลดอาการหิวจุกจิก ทานอาหารได้น้อยลง ช่วยในการลดน้ำหนักทุกสัดส่วน เห็นผลใน 14 วัน...” และพบเฟชบุ๊ก Thanachod Black จำหน่ายวิตตามินลดน้ำหนักจากคลินิคปลอดภัย100% ปลีก-ส่ง จัดส่งทุกวัน” ระบุข้อความ “คุมหิว บล็อกไขมัน ลดต้นขา ลดต้นแขน ลดสัดส่วนทานคู่กับยาลดตัวอื่น ๆได้เม็ดละ10.-บาท #p40 เข้าเเล้วนะครับ สั่งได้เลยนะครับ มีพนักงานส่งสินค้าแทนนะครับตอนนี้ลูกค้าต้องการเยอะเลยหยุดไม่ได้ครับ, และเฟชบุ๊ก“ยาลดน้ำหนักคลินิกหมอโชคชัยแท้ 100%” ระบุข้อความ “ไฟรีวิวโคตรปัง อยากผอมต้องสั่ง #ยาลดโรงพยาบาล#ยาลดความอ้วน#ยาลดน้ำหนัก#ยาลดน้ำหนักยันฮี#ลดหุ่น#ลดน้ำหนัก#วิธีการสั่งซื้อพร้อมรูปภาพ และเฟชบุ๊กBike Pop จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยาลดน้ำหนักยันฮี” ซึ่งเฟซบุ๊กเหล่านี้เป็นการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดเป็นของกลางทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดดังนี้
 
พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  พ.ศ. 2559
- ขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษ จำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 – 2,000,000 บาท
 
พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
- ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- ขายยาปลอมจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท
- ขายยาบรรจุเสร็จหลายขนานโดยจัดเป็นชุดในคราวเดียวกัน มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน  
50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
 
พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537
ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์  เชาวนาศัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์ม หรือเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่เจ้าของแพลตฟอร์ม ที่มีการจำหน่ายและการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค
 
 ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า
อย.ขอขอบคุณกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ให้ความอนุเคราะห์ผลตรวจวิเคราะห์ในการทำงานครั้งนี้ และ  เตรียมขยายผลตรวจสอบหากพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท,    ยาไม่มีทะเบียน ทางอินเทอร์เน็ต, แพลตฟอร์ม และ เฟซบุ๊ก จะดำเนินการตามกฎหมายทันทีและเตือนว่าการขายยา อย.ไม่ได้อนุญาตให้มีการขายยาผ่านทางสื่อออนไลน์ แนะผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงทางสื่อออนไลน์ เพราะอาจจะเกิดการแพ้ยาและอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนการเลือกซื้อได้ที่ Application “ตรวจเลข อย.” ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารที่ช่วยเข้าถึงมือผู้บริโภคได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เป็นการสร้างความมั่นใจเบื้องต้นให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ อย. ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างใกล้ชิด หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยสามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะทำการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

................................................................................................
วันที่เผยแพร่ข่าว 9 เมษายน 2564  แถลงข่าว  22  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
“การแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”



จากหน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดดู 861 view
วันที่ประกาศข่าว : 9 เมษายน 2564 เวลา 13:07 น.