ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

กรมอนามัย ห่วงฝุ่นจิ๋วกระทบเด็ก จับมือราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ แนะแนวทางป้องกัน


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กเล็กได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5  ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี  คณะทำงาน PM 2.5 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะแนวทางการดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับเด็ก

            วันนี้ (26 มกราคม 2564) นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานการแถลงข่าวรู้ทันป้องกันฝุ่น PM2.5 ประเด็น“ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและวิธีการป้องกัน” ร่วมกับ      รศ.ดร.พญ.วิภารัตน์ มนุญากร กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และผศ.พญ.หฤทัย กมลาภรณ์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะทำงาน PM 2.5  ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ณ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ  ด้านผลกระทบต่อสุขภาพ อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย

           นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังอาการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง พบว่า ในภาพรวมผู้ที่มีอาการลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่พบมากที่สุดยังคงเป็นอาการโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูก ร้อยละ 17 แสบจมูก ร้อยละ 13.7 และแสบตาคันตา ร้อยละ 9.8 ซึ่งเป็นอาการเฉียบพลันที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับสัมผัสฝุ่นละออง โดยวันที่มีอาการมากที่สุด คือ วันที่ 21 - 23 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีค่า PM 2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ในหลายพื้นที่ โดยกลุ่มอายุ 45-54 ปี ยังเป็นกลุ่มที่พบอาการมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ออกมาทำงานและมีโอกาสรับสัมผัสฝุ่นมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ 

     “สำหรับกลุ่มเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สูงเกินมาตรฐานเช่นเดียวกัน โดยจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2563 พบว่า มีเด็กอายุ    0 - 14 ปี กว่าร้อยละ 44.1 ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน และป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวน 618,131 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.7 ของเด็กทั้งหมด โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ แสดงว่าในทุก ๆ วันจะมีเด็ก 0 - 14 ปีที่มาเข้ารับการรักษาด้วยการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 1,694 ราย ต่อวัน ดังนั้น ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ควรป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก โดยควรลดหรืองดการออกนอกอาคารในวันที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน และหากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากตลอดเวลา รวมทั้งกินอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ปิดประตูหน้าต่างในช่วงที่มีฝุ่นสูง และหากมีอาการผิดปกติ ให้ไปพบแพทย์ ทั้งนี้ กรมอนามัยได้จัดทำชุดข้อมูล ความรู้ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับเด็กเล็ก โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซด์กรมอนามัย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

       ทางด้าน ผศ.พญ.หฤทัย กมลาภรณ์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เด็กเป็นประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบจากมลพิษที่ส่งผลต่อเยื่อบุทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันที่ยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้ไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าผู้ใหญ่ ซึ่งในเด็กปกติ ระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวันคือ PM 2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสำหรับเด็กที่มีปัญหาทางระบบหายใจเรื้อรัง เช่น  โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง  เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหัวใจ ระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน คือ PM 2.5 มากกว่า 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดังนั้น ระดับคุณภาพอากาศในอาคารที่เหมาะสม คือ PM 2.5 ไม่เกิน 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ในส่วนของโรงเรียน ควรมีการติดตามรายงานคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ และพิจารณาปรับกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ เมื่อระดับ PM 2.5 อยู่ในระดับสีส้ม เด็กควรสวมหน้ากากอนามัยและไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง หากระดับ PM 2.5  อยู่ในระดับสีแดง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง หรือหากระดับ PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นติดต่อกัน มากกว่า 3 วัน ควรพิจารณาหยุดเรียน

         ทางด้าน รศ.ดร.พญ.วิภารัตน์ มนุญากร กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อระดับคุณภาพอากาศภายนอกเกินเกณฑ์มาตรฐาน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด โดยระวังอย่าให้ห้องร้อนเกินไป ไม่สูบบุหรี่ หรือจุดธูปในอาคาร ถูพื้นโดยใช้ผ้าเปียกเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง หากภายในอาคารมีมลพิษสูง ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกำจัด PM 2.5 ได้ ไม่ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่มีการผลิตโอโซนเพราะโอโซนในปริมาณมากเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นและมีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้า สำหรับเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนค์ เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่สีส้มหรือสีแดง ควรสวมหน้ากาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้น  ให้รีบมาพบแพทย์

 

***

 

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 26 มกราคม 2564


จากหน่วยงาน : กรมอนามัย เปิดดู 908 view
วันที่ประกาศข่าว : 26 มกราคม 2564 เวลา 14:32 น.