ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

กรมอนามัย ห่วงกลุ่มเปราะบางเสี่ยงฝุ่นกระทบสุขภาพ แนะวิธีจัดบ้าน - สภาพแวดล้อม ป้องกัน PM2.5


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5  พร้อมร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แนะวิธีจัดบ้านและสภาพแวดล้อมที่ดี ช่วยป้องกันฝุ่น

          วันนี้ (18 มกราคม 2564) นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการ   แถลงข่าวรู้ทันป้องกันฝุ่น PM2.5  “การจัดบ้านให้ปลอดฝุ่นได้อย่างไร” ณ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย ว่า ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงพบหลายพื้นที่มีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคเหนือ ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เมื่อวันที่ 10 – 16 มกราคม 2564 พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลของกรมควบคุมโรค มีผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลเครือข่าย จำนวน 31 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ รองลงมาคือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 - 69 ปี และมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ดังนั้น ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ดูแลป้องกันสุขภาพตนเอง โดยเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้ง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นที่จัดเตรียมไว้ และสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ยกระดับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่เสี่ยง โดยให้ทุกพื้นที่ดำเนินงานเฝ้าระวัง แจ้งเตือนสถานการณ์และดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ให้คำแนะนำการป้องกันตัวและดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ให้โรงพยาบาลเปิดคลินิกมลพิษเพื่อให้คำปรึกษาและรักษา สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุข และสนับสนุนให้โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ บ้านเรือนประชาชน จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น รวมทั้งบูรณาการการดำเนินงานในพื้นที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน และจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแล และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองให้น้อยที่สุด หากประชาชนมีปัญหาด้านสุขภาพหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ด้านผลกระทบต่อสุขภาพ (ศกพ.ส) หรือ ทาง “Facebook กรมอนามัย และ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและ สถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้บ้านได้ทุกแห่ง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน ผศ. ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่าสถานการณ์ปัญหาการสะสมตัวของ PM2.5 ในบรรยากาศ ภายในเมืองขนาดใหญ่ มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศที่ปิดในช่วงฤดูหนาว และยังมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอาคาร การจัดการคุณภาพอากาศในอาคารอย่างเหมาะสม จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันตนเองจากการสัมผัส PM2.5 ที่เข้ามาจากภายนอกอาคาร ทั้งนี้ เทคนิคการจัดการคุณภาพอากาศภายในบ้าน สำนักงาน แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1) การควบคุมแหล่งกำเนิด เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ PM2.5 ภายในบ้าน สำนักงาน การควบคุมแหล่งกำเนิดของ PM2.5 ภายในบ้านจึงเป็นส่วนที่สำคัญอันดับแรกโดยปิดประตูหน้าต่าง และเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นในบ้าน 2) การฟอกอากาศ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการลด PM2.5 ภายในบ้าน/สำนักงาน การใช้อุปกรณ์ฟอกอากาศ จึงเป็นการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคที่สามารถทำได้ และ 3) การระบายอากาศร่วมกับการฟอกอากาศ โดยอาศัยการจ่ายอากาศที่ผ่านการกรองเข้ามาให้ห้อง เพื่อให้ภายในห้องมีแรงดันสูงกว่าบรรยากาศภายนอก (Positive Pressure)  และผลักดันฝุ่นภายในห้องออกไปภายนอกอย่างต่อเนื่องจนปริมาณฝุ่นในห้องต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับพื้นที่ของคนที่อยู่อาศัยจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

“ทั้งนี้ อีกหนึ่งตัวช่วยในการดักจับสารพิษในอากาศ และสามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ดี คือ การปลูกต้นไม้ เพราะส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ โดยเฉพาะใบ สามารถช่วยดักฝุ่นได้ดี ต้นไม้หลากหลายชนิดสามารถดักจับฝุ่นได้จากลักษณะของใบ โดยต้นไม้ที่มีใบใหญ่ หนา โดยเฉพาะใบที่มีขนหรือมีพื้นผิวขรุขระ จะมีแนวโน้มในการดักจับฝุ่นได้ดี เนื่องจากมีพื้นที่ในการดักจับได้มาก และไม่ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกมาอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามการดักจับฝุ่นบนใบนั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากฝุ่นบนในจะไปปิดกั้นการรับสารอาหารของพื้นการลดฝุ่นของต้นไม้ต่อต้นอาจจะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเครื่องฟอกอากาศ เนื่องจากขึ้นกับพื้นผิวของใบ แต่การปลูกต้นไม้ ร่วมกับการวางผังบริเวณที่ดี เช่น การจัดสวนเพื่อเป็นพื้นที่กันชนระหว่างแหล่งกำเนิด จะช่วยส่งผลให้ลดการเดินทางของฝุ่นจากแหล่งกำเนิดดังกล่าว เข้ามาภายในบ้านและสำนักงานได้ นอกจากนี้ต้นไม้หลากหลายประเภท ยังสามารถดูสารอินทรีย์ระเหยเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของต้นไม้เองและยังสามารถเพิ่มปริมาณออกซิเจนแก่พื้นที่ได้เป็นอย่างดีอีกด้วยอย่างไรก็ตาม การตั้งต้นไม้ไว้ในห้องนอนควรระมัดระวัง เนื่องจากต้นไม้ส่วนใหญ่มีการใช้ออกซิเจนในตอนกลางคืน และปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา” ผศ. ดร.ประพัทธ์ กล่าว

***

 

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 18 มกราคม 2564


จากหน่วยงาน : กรมอนามัย เปิดดู 692 view
วันที่ประกาศข่าว : 18 มกราคม 2564 เวลา 16:30 น.