ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

กรมอนามัย ห่วงเด็กเล็ก – วัยเรียน สูดฝุ่น PM2.5 แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู สังเกตอาการเช็คค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน


          กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กเล็ก และเด็กวัยเรียนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากสภาพอากาศ ที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู เฝ้าระวังเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่มีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ และให้เช็คค่าฝุ่นทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน

           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่โรงเรียนวิชากร เขตดินแดง รณรงค์ป้องกันฝุ่น PM2.5  ว่า สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร พบค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต  ปิตุเตชะ) มีความห่วงใยสุขภาพประชาชน  โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก และเด็กวัยเรียนที่อาจสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูง ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในระยะยาว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งส่งผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทและความสามารถทางปัญญาของเด็ก เนื่องจากปอดของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ทำให้มีอัตราหายใจที่ถี่กว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู จึงควรดูแลและสังเกตอาการของเด็กทั้งกลุ่มปกติและเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด โดยให้เลี่ยงทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง จัดห้องในบ้านหรือในโรงเรียนให้เป็นห้องปลอดฝุ่น และลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น เช่น การจุดธูป ปิ้งย่าง เผาขยะ เผาเศษใบไม้ เป็นต้น หากพบเด็กหรือบุคคลในครอบครัว มีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพาไปพบแพทย์ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมอย่างน้อย 5 วัน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดทำห้องปลอดฝุ่นในบ้านหรือในโรงเรียนนั้น สามารถดำเนินการได้ดังนี้ 1) ให้เลือกห้องที่ห่างจากถนน ลานจอดรถ พื้นที่ก่อสร้าง หรือกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน และเป็นห้องที่มีช่องว่างของประตู หรือหน้าต่างน้อยที่สุด 2) ทำความสะอาดห้อง โดยใช้ผ้าชุบน้ำแทนการใช้ไม้กวาด  3) ปิดช่องหรือรูที่อากาศภายนอกจะเข้ามา และ 4) เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อหมุนเวียนอากาศภายในห้อง และไม่ควรทำกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มขึ้นในห้อง เปิดเครื่องฟอกอากาศ เพื่อช่วยลดฝุ่นละอองในห้อง (ถ้ามี) ส่วนห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรตรวจสอบและทำความสะอาดแผ่นกรองทุกเดือน ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง

           “ทั้งนี้ ก่อนพาเด็กออกนอกบ้าน ให้ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศด้วยการดูค่า PM2.5 หรือค่า AQI     ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชั่น “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือติดตามการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝุ่น PM2.5 จากเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้สังเกตที่สีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว   

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 15 ธันวาคม 2563


จากหน่วยงาน : กรมอนามัย เปิดดู 392 view
วันที่ประกาศข่าว : 15 ธันวาคม 2563 เวลา 14:20 น.