ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

กรมควบคุมโรค ร่วมกับเครือข่าย จัดเดิน-วิ่ง “Charity TB Run 2020 Mini Marathon” ในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ New Normal หนุนออกกำลังกายป้องกันวัณโรค


          เช้าวันนี้ (25 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดกิจกรรมเดิน-วิ่ง การกุศล “Charity TB Run 2020 Mini Marathon ครั้งที่ 4” โดยจัดในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ New Normal เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 และเป็นการสร้างกระแสการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายป้องกันวัณโรค จัดโดยกองวัณโรค กรมควบคุมโรค ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่ายอื่นๆ

          นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศ ที่ยังคงเป็นปัญหาของโลก โดยคาดการณ์ว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 105,000 ราย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตกว่า 11,000 รายต่อปี  กรมควบคุมโรค ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาวัณโรคมาตลอด โดยเฉพาะปัญหาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 1.2 ล้านบาทต่อราย เพื่อเป็นค่ายาในการรักษา ประกอบกับผู้ป่วยวัณโรคส่วนมากมีฐานะทางครอบครัวที่ยากจน จึงเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการเข้าถึงการรักษา

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานควบคุมวัณโรค โดยมีเครือข่ายการประสานความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้การดำเนินงานวัณโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานการดำเนินงานวัณโรคแห่งชาติ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยตั้งเป้าหมายลดอัตราป่วยรายใหม่ลงเหลือน้อยกว่า 10 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2578  

          สำหรับการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศลในครั้งนี้ เป็นการ​จัดต่อเนื่อง​เป็นครั้งที่​ 4​ มีระยะทาง 5 กม. 10 กม. และเดินเพื่อสุขภาพ 2.5 กม. โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้  1.เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายโดยการเดินหรือวิ่ง  2.เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) ผู้ป่วยวัณโรคที่ยากไร้และประสบปัญหาจากวัณโรค  3.เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติมีความรู้ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรควัณโรค มีจิตสำนึกในการควบคุมป้องกันวัณโรค นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมต่อไป และ 4.เพื่อเป็นมาตรฐานของมาตรการการจัดกิจกรรมในรูปแบบ New Normal เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 

          นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้มาตรการจัดการแข่งขันภายใต้การแพร่ระบาด COVID-19 ของสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพไทย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และสมาคมวิ่งเทรลแห่งประเทศไทย โดยมีการเตรียมความพร้อมทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังการจัดงาน อาทิ ให้สมัครแข่งขันผ่านทางออนไลน์  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะต้องลงทะเบียน “ไทยชนะ” ของฝ่ายจัดงาน มีจุดคัดกรองวัดอุณภูมิและสังเกตอาการป่วยหน้าทางเข้างาน มีการจัดเตรียมที่เฉพาะสำหรับแยกบุคคลที่สงสัยว่าจะป่วย จัดทำป้ายเพื่อให้คำแนะนำและมีสัญลักษณ์เตือนให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรค มีการควบคุมไม่ให้แออัดและให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร มีจุดบริการแอลกอฮอล์อย่างทั่วถึง และให้ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยในช่วงก่อนและหลังการแข่งขัน เช่น จุดบริการอาหาร/เครื่องดื่ม และตลอดระยะเวลาที่อยู่ในสถานที่ปิด เช่น ในเต็นท์พยาบาล รถขนส่ง โดยขณะทำการวิ่งไม่ควรใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เป็นต้น

          ด้านแพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กล่าวเสริมว่า  กรมควบคุมโรค ให้ความสำคัญกับปัญหาวัณโรค โดยเฉพาะการป้องกันควบคุมวัณโรคในเขตเมืองใหญ่ ได้มีการพัฒนารูปแบบการค้นหาและดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคในเขตพื้นที่เมืองที่เหมาะสมกับพื้นที่ และให้ความสำคัญกับการค้นหาการติดเชื้อระยะแฝง​ของผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค​ ผู้สัมผัสร่วมบ้าน​ ผู้สัมผัสในชุมชน ผู้ติดเชื้อ​เอชไอ​วี​ ผู้ป่วย​โรคเบาหวาน​ ตลอดจนการค้นหาผู้ป่วยในสถานประกอบการโรงงาน​ เป็นต้น และมีการติดตามกำกับการรักษาจนหาย ต่อไป  ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชนตรวจร่างกายเพื่อตรวจหาวัณโรค​อย่างน้อยปีละ​ 1​ ครั้ง​ และให้สังเกตอาการป่วย โดยอาการของวัณโรคจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้พาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว เพราะวัณโรค หากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร 0-2212-2279 กด 4 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

******************************************

ข้อมูลจาก : กองวัณโรค กรมควบคุมโรค

วันที่ 25 ตุลาคม 2563


จากหน่วยงาน : กรมควบคุมโรค เปิดดู 490 view
วันที่ประกาศข่าว : 25 ตุลาคม 2563 เวลา 10:55 น.