ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

สธ.ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโครงการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการ ณ หน่วยบริการปฐมภูมิวัดไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 5 แพทย์หญิงดารารัตน์ รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโครงการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการ ณ หน่วยบริการปฐมภูมิ วัดไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพ  ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย  ที่จะเร่งรัดปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน สร้างความพึงพอใจในคุณภาพการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด ลดระยะเวลา การรอคอย โดยได้มอบนโยบายให้แก่ห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2563  และในปีงบประมาณ 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการจะดำเนินการ  ในโรงพยาบาลนำร่องทุกเขตบริการสุขภาพ  และมีการกำกับดูแลมาตรฐานของการตรวจวิเคราะห์ และการเก็บนำส่งตัวอย่าง โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ องค์กรวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความแออัด ตามแนวทางการแพทย์วิถีใหม่ (New Normal of medical Service) และปลอดภัยจากโรคโควิด-19

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า โครงการลดความแออัดทางห้องปฏิบัติการ ณ หน่วยบริการปฐมภูมิวัดไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยได้ใช้พื้นที่ของวัดไผ่ล้อมเปิดให้บริการประชาชน พบว่า มีผู้ป่วยเข้ามารับบริการเจาะเลือดก่อนพบแพทย์ประมาณ 180 คนต่อวันหรือ 3,960 คนต่อเดือน พร้อมกันนั้นผู้ป่วยสามารถรับยาและชำระค่าบริการได้ ณ หน่วยบริการปฐมภูมิวัดไผ่ล้อม โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ผู้รับบริการมีความพึงพอใจในการรับบริการเจาะเลือดนอกโรงพยาบาลที่สะดวกรวดเร็ว เนื่องจากใช้เวลาน้อย เพียงสิบกว่านาที ไม่ต้องรอคิวนาน จอดรถง่าย และประทับใจ  การให้บริการของเจ้าหน้าที่

 “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีภารกิจเกี่ยวกับการกำกับดูแลมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศได้หาแนวทางการลดความแออัด  ทางห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาล พบว่า จุดหนึ่งที่สำคัญ คือ การลดระยะเวลาในการรอคอย การเจาะเลือดและบริการ ทางห้องปฏิบัติการ การเจาะเลือดใกล้บ้านที่ รพ.สต. หรือสถานบริการสุขภาพ หรือคลินิกเอกชน ก่อนนัดพบแพทย์   จะสามารถลดระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลได้มากกว่า 2-5 ชั่วโมง สามารถลดความแออัดในโรงพยาบาล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำคู่มือหน่วยบริการเจาะเลือด เก็บตัวอย่างนอกโรงพยาบาล เพื่อกำกับดูแลมาตรฐาน  และความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำคำของบประมาณ  และมีการดำเนินการนำร่องในปีงบประมาณ 2563 โดยโรงพยาบาลนครปฐมและเครือข่ายในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา” นายแพทย์โอภาส กล่าว

**************************    4 สิงหาคม 2563


จากหน่วยงาน : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดดู 1052 view
วันที่ประกาศข่าว : 4 สิงหาคม 2563 เวลา 10:01 น.