ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พร้อมรายงานผลตรวจวิเคราะห์โรคหัดแบบออนไลน์ภายใน 48 ชั่วโมง


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สนับสนุนการแก้ปัญหาการระบาดของโรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยสามารถรายงานผลได้ภายใน 48 ชั่วโมง  แบบออนไลน์ผ่านฐานข้อมูลกำจัดโรคหัด กรมควบคุมโรค เพื่อนำผลไปใช้ในการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า เปิดเผยว่าโรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัส Measles พบได้ในจมูกและลำคอผู้ป่วย ติดต่อง่ายโดยการไอหรือจาม เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย หากมีไข้ มีผื่นแดง ไอมีน้ำมูก เยื่อบุตาแดง มีจุดขาวที่กระพุ้งแก้ม ควรรีบพบแพทย์ทันที  สถานการณ์การระบาดของโรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ในจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและสงขลา ซึ่งจะพบมาก ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี และกรณีที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 1 ปี  มีประวัติไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค  บางรายอายุยังไม่ครบเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา  ในฐานะห้องปฏิบัติการที่ผ่านการตรวจประเมินจากองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้สนับสนุนการแก้ปัญหาการระบาด ของโรคหัด โดยการตรวจยืนยันผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสหัด และสามารถรายงานผลได้ภายใน 48 ชั่วโมงแบบออนไลน์  ผ่านฐานข้อมูลกำจัดโรคหัด กรมควบคุมโรค เพื่อนำผลไปใช้ในการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรค พบว่าตัวอย่างที่ส่งตรวจยืนยัน โรคหัดมีมากถึง  1,942  ราย  พบการติดเชื้อโรคหัด 1,271 ราย คิดเป็นร้อยละ 65 พบติดเชื้อหัดเยอรมัน (Rubella)  อีกร้อยละ 0.6 โดยที่เหลือร้อยละ 34 ให้ผลลบ อาจมีสาเหตุจากช่วงระยะเวลาในการเก็บตัวอย่างไม่เหมาะสม หรือเป็นตัวอย่างจากกลุ่มของผู้สัมผัสซึ่งมีอาการแสดงไม่ชัดเจน หรือเป็นไข้ออกผื่นชนิดอื่น และจากผลตรวจหาสายพันธุ์ ของเชื้อไวรัสหัดที่ระบาดนี้ ด้วยวิธีทางชีวโมเลกุล RT – PCR และการหาลำดับสารพันธุกรรมของไวรัส จากตัวอย่างเชื้อ ที่เก็บจากสวอบ (Swab) ในคอของผู้ป่วย พบว่าไวรัสหัดสายพันธุ์ B3 เป็นสาเหตุของการระบาดครั้งนี้  ซึ่งเป็นประโยชน์ ทางระบาดวิทยาการสอบสวนโรคและควบคุมโรคเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ สนับสนุนนโยบายตามโครงการกำจัดโรคหัด ตามพันธะสัญญานานาชาติ  อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยฉีดเข็มแรกที่อายุ  9-12 เดือน และเข็มที่สองที่อายุ 2 ปีครึ่ง ดังนั้นประชาชนควรนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบถ้วนจะสามารถป้องกันโรคหัดได้

********************************* 23 มกราคม  2561//Rich/ศวก.12


จากหน่วยงาน : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดดู 209 view
วันที่ประกาศข่าว : 23 มกราคม 2562 เวลา 10:20 น.