ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยความก้าวหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569


          วานนี้ (17 มกราคม 2562) การประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยมีพลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุม โดยสาระสำคัญคือการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2560-2569

            พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ความก้าวหน้าของการเสนอร่างกฎกระทรวงตามความในพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ลงนามเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนกระทรวงมหาดไทยอยู่ในระหว่างดำเนินการปรับเนื้อหาของร่างกฎกระทรวงเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

            “ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการยังได้มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการ ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2562-2564)ตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามยุทธศาสตร์ ในการทำให้อัตราการคลอดในวัยรุ่นลดลง กล่าวคือ อัตราวัยรุ่นกลุ่มอายุ 10-14 ปี ไม่เกิน 0.5 ต่อพันคน และกลุ่มอายุ 15-19 ปี ไม่เกิน 25 ต่อพันคน ในปี 2569” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าว

           แพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นความสำคัญของหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในการปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปตามกฎกระทรวง เน้นการดำเนินงานในพื้นที่โดยคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานครและบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดคานงัดที่สำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมทั้งเน้นการให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับสวัสดิการสังคมและโอกาสทางการศึกษา อันจะส่ง ผลดีต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศต่อไป

           นายแพทย์กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น โดยอัตราคลอดในวัยรุ่นกลุ่มอายุ 15-19 ปี ในปี 2560 ลดลงเหลือ 39.6 ต่อหนึ่งพันประชากรหญิง และในกลุ่มอายุ 10-14 ปี อัตราคลอดลดลงเหลือ 1.3 ต่อหนึ่งพันประชากรหญิง สำหรับปี 2561 ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานในภาพรวมก็ยังมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากทะเบียนเกิด แสดงให้เห็นว่าอัตราคลอดในวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี ในไตรมาสที่ 1–3 ของปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 33.2, 31.7 และ 34.1 ต่อหนึ่งพันประชากรหญิง ตามลำดับ นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ดำเนินการเก็บข้อมูลเฝ้าระวังการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าว โดยพบว่า ในปี 2561 วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มาฝากครรภ์มีสถานภาพเป็นนักเรียน/นักศึกษาในระบบโรงเรียน ร้อยละ 38.0 ไม่ได้ประกอบอาชีพ ร้อยละ 22.5 และประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 15.3 สำหรับสถานภาพการศึกษาของแม่วัยรุ่นขณะที่ตั้งครรภ์ พบว่า เมื่อตั้งครรภ์แล้วส่วนใหญ่ต้องหยุดเรียน/ลาออกแต่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยร้อยละของการหยุดเรียน/ลาออก ลดลงจากร้อยละ 53.5 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 37.4  ในปี 2561 ส่วนนักเรียน/นักศึกษาที่ได้เรียนต่อในสถานศึกษาเดิมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.7 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 23.3 ในปี 2561

             “แม้ว่าสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำเป็นต้องดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาโอกาสทางการศึกษาของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ รวมทั้ง ความช่วยเหลือ สนับสนุน ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสาธารณสุขหรือสวัสดิการสังคม” ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 18 มกราคม 2562


จากหน่วยงาน : กรมอนามัย เปิดดู 578 view
วันที่ประกาศข่าว : 18 มกราคม 2562 เวลา 14:12 น.