ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

กรมอนามัย ห่วงเด็กเล็กสูดฝุ่น PM2.5 เร่งเสริมความรู้พ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตอาการ แนะแนวทางป้องกัน


         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กเล็กได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากสภาพอากาศที่มี ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เร่งสร้างความรู้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูพี่เลี้ยงพร้อมแนะแนวทางการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่มีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศ

       แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เด็กเล็กเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เด็กที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูงอาจมีความเสี่ยงต่อ   โรคเรื้อรังในระยะยาว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางระบบประสาทและความสามารถทางปัญญาของเด็ก เนื่องจากปอดของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้มีอัตราหายใจที่ถี่กว่า ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูพี่เลี้ยงควรดูแลเด็กทั้งกลุ่มปกติทั่วไปและเด็กที่มีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการดูแลและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

         “ทั้งนี้ กรมอนามัยได้กำหนดแนวทางการดูแลเด็กเล็กสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูพี่เลี้ยง เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดังนี้ 1) ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th หรือแอพพลิเคชั่น Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ 2) หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงที่ปริมาณ PM2.5  ตั้งแต่ระดับสีเขียว (26-37 ไมโครกรัม/   ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป  3) ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6 - 8 แก้วต่อวัน  4) เด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและสังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออกให้รีบไปพบแพทย์  5) หากค่า PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง (91 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ขึ้นไป ห้ามออกนอกบ้าน    6) ปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษอากาศ 7) งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 เช่น การเผาใบไม้ เผาขยะ 8) ไม่ติดเครื่องยนต์เป็นเวลานานในบริเวณบ้าน และ 9) ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดและเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ /17 มกราคม 2562


จากหน่วยงาน : กรมอนามัย เปิดดู 435 view
วันที่ประกาศข่าว : 17 มกราคม 2562 เวลา 14:04 น.