ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

โรคอ้วนลงพุง ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด


 

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์  เตือนชายรอบเอวเกินกว่า 36 นิ้ว / หญิงเกินกว่า 32 นิ้ว จัดเป็นโรคอ้วนลงพุง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดอันตรายถึงชีวิต แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีห่างไกลจากการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า  กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก พบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเฉลี่ย  ชั่วโมงละ 2 คน  โรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดจากภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งกระบวนการนี้จะเริ่มต้นและค่อยๆ เสื่อมจนทำให้เกิดอาการในระยะต่อมา หากพบว่าเป็นโรคดังกล่าวแล้วผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ตลอดชีวิต  สาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย และภาวะน้ำหนักเกินจนเกิดโรคอ้วนลงพุง  ดังนั้นเพื่อควบคุมป้องกันการเกิดโรค ประชาชนควรตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองโดยเริ่มต้นจากการควบคุมและการเลือกบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีห่างไกลจากการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

 แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนลงพุง เป็น 1 ในสาเหตุที่สำคัญของโรคดังกล่าว เกิดจากการมีไขมันสะสม ในช่องท้องหรืออวัยวะภายในช่องท้องมากเกินควร ส่งผลให้พุงยื่นออกมาอย่างชัดเจน  สามารถเกิดขึ้นได้ในเพศชายที่มีเส้นรอบเอวเกินกว่า 36 นิ้ว หรือ 90 ซม.และเพศหญิงที่มีเส้นรอบเอวเกินกว่า 32 นิ้ว หรือ 80 ซม. ร่วมกับการมีดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้คือ 18.5 - 24.9 โดยสามารถคำนวณหาค่า ดัชนีมวลกาย  = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2  หากพบว่าร่างกายของตนเองมีภาวะเสี่ยงดังกล่าว        อาจส่งผลต่อการเพิ่มโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 

ดังนั้น ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง สามารถทำได้ด้วยการลดน้ำหนัก โดยออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 วัน เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวและเส้นรอบเอว   การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังช่วยลด       ความอ้วน ช่วยในการควบคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน อีกทั้งการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมยังเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงควรเลือกบริโภคอาหารจำพวก ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม เพื่อช่วยให้ห่างไกลจากโรคอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

******************************************

  #  สถาบันโรคทรวง  #กรมการแพทย์  #โรคอ้วนลงพุง #โรคหัวใจและหลอดเลือด         

         - ขอขอบคุณ -

             29  พฤศจิกายน  2561


จากหน่วยงาน : กรมการแพทย์ เปิดดู 4812 view
วันที่ประกาศข่าว : 29 พฤศจิกายน 2561 เวลา 11:52 น.