ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำกีฬาสำหรับเด็กควรตั้งเป้าเพื่อความสุข สนุกสนาน และการมีน้ำใจนักกีฬา


กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำกีฬาสำหรับเด็กควรตั้งเป้าเพื่อความสุข สนุกสนาน และการมีน้ำใจนักกีฬา

กรมสุขภาพจิต  ย้ำการแข่งขันกีฬาสำหรับเด็กควรตั้งเป้าเพื่อให้เด็กมีความสุข   สนุกสนาน  รู้จักน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ และได้พัฒนาทักษะที่จำเป็น จึง ควรเลือกชนิดกีฬาที่เหมาะสมกับพัฒนาการตามช่วงวัย และสภาพร่างกายของเด็ก  เลี่ยงกีฬาที่อาจก่อให้เกิดความบอบช้ำของร่างกายและสมอง  รวมทั้งการแข่งขันเพื่อเอาชนะ หรือเพื่อให้ได้เงินมาเรียนหนังสือหรือเลี้ยงชีพ  แต่ควรมีองค์กรเข้ามาช่วยดูแลช่วยเหลือเด็กที่ขัดสน

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต  อธิบดีกรมสุขภาพจิต แสดงความห่วงใยต่อกรณีการเสียชีวิตระหว่างการชกของนักมวยเด็ก  พร้อมกล่าวว่าการที่เด็กออกกำลังกาย เล่นกีฬา รวมไปถึงมีการแข่งขันกีฬานั้นเป็นสิ่งที่ดี และควรให้การสนับสนุน แต่ต้องยอมรับว่ากีฬาหลายชนิดในปัจจุบันค่อนข้างอันตราย และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บอย่างรุนแรงได้ โดยเฉพาะในเด็กที่สภาพทางร่างกาย และการตัดสินใจยังไม่พัฒนาเต็มที่ กรณีนักมวยเด็ก หากขึ้นชกในในสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม แม้กำลังหมัดของคู่ต่อสู้เด็กด้วยกันจะไม่รุนแรงมาก แต่สามารถทำให้เกิดการสะบัดของคออย่างเฉียบพลันได้ ซึ่งการสะบัดของคอลักษณะนี้อาจก่อให้เกิดหลอดเลือดบริเวณสมองฉีกขาด และก้อนเลือดกดทับสมองจนถึงแก่ชีวิต รวมทั้งการถูกชกโดยตรงบริเวณศรีษะอาจทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างเนื้อสมองกับกระโหลก ได้เช่นกัน  นอกจากนี้ การได้รับการกระทบกระเทือนซ้ำๆของเนื้อสมองในระยะยาวจะก่อให้เกิดการถดถอยของประสิทธิภาพของสมองเด็กได้อย่างมาก ยิ่งปัจจุบันที่พบว่าไม่มีการสวมใส่เครื่องป้องกันที่ดี  มีจำนวนยกที่มาก และการแข่งขันที่เว้นระยะพักน้อย ย่อมส่งผลกระทบที่อันตรายมหาศาลกับเด็ก  อธิบดีกรมสุขภาพจิต  เน้นย้ำว่าเด็กทุกคนควรได้รับการสนับสนุนให้เล่นและเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้จักน้ำใจนักกีฬา สร้างสุขภาพกายและจิตที่ดี เพื่อการเติบโตตามพัฒนาการ  จึงจำเป็นต้องเลือกชนิดกีฬาที่เหมาะสมกับช่วงวัยและสภาพร่างกายของเด็ก หลีกเลี่ยงกีฬาที่อาจก่อให้เกิดความบอบช้ำของร่างกายและสมอง เพราะเด็กจะต้องอยู่กับร่างกาย และสมองไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ จึงต้องรักษาให้มีความสมบูรณ์พร้อม  การแข่งขันกีฬาในเด็กที่เหมาะสมควรเน้นที่ตัวเด็กเป็นหลัก  คือให้เด็กมีความสุข สนุก รู้จักน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ และ ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็น ไม่สนับสนุนให้เด็กชกมวยเพื่อให้ได้เงินมาเรียนหนังสือหรือเลี้ยงชีพ ทั้งนี้  ควรมีหน่วยงาน หรือองค์กร ที่จะเข้ามาช่วยดูแลช่วยเหลือเด็กที่ขัดสน  โดย ไม่ปล่อยให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย  หรือเกิดผลเสียกับคุณภาพชีวิตในอนาคต

                                                                      16 พฤศจิกายน 2561

 


จากหน่วยงาน : กรมสุขภาพจิต เปิดดู 155 view
วันที่ประกาศข่าว : 16 พฤศจิกายน 2561 เวลา 11:46 น.